top of page
Search

การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ คืออะไร

Updated: Oct 18, 2022


การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ เป็นการผ่าตัดทำทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจ ในผู้ป่วยที่เป็น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือตัน ( Coronary artery disease : CAD ) จนเกิดภาวะหรือโรคกล้ามเนื้อ หัวใจขาดเลือด ( Myocardial infarction )โดยการผ่าตัดนั้นจะนำเส้นเลือดจากส่วนอื่นๆภายใน ร่างกายผู้ป่วยมาเชื่อมต่อกับเส้นเลือดหัวใจเดิมของผู้ป่วยตรงส่วนที่เลยจากตำแหน่งที่มีการตีบหรือ ตัน เพื่อให้เส้นเลือดใหม่ที่นำมาต่อนี้ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแทนเส้นเลือดหัวใจเดิม


เส้นเลือดในร่างกายที่นิยมนำมาใช้ในการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ ได้แก่ เส้นเลือดแดง ใต้กระดูกหน้าอกด้านซ้าย ( Lt. Internal mammary artery : LIMA ), เส้นเลือดแดงจากปลายแขน( Radial artery ) และ เส้นเลือดดำจากขา ( Greater saphenous vein : GSV ) โดยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้เส้นเลือดที่จะนำมาใช้ในการผ่าตัดทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น คุณภาพของเส้นเลือดแต่ละตำแหน่ง, พยาธิสภาพ


เมื่อไรต้องผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ


วิธีการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาด เลือดนั้น มีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ 1. การรักษาด้วยการรับประทานยา ( Medications ) 2. การสวนหัวใจ ขยายเส้นเลือดหัวใจด้วยบอลลูน ( Balloon angioplasty ) และการวางขดลวดค้ำ ยันเส้นเลือด ( Stent ) 3.การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ


ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ เช่น


1. อาการแย่ลงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการรับประทานยา 2. ไม่สามารถขยายเส้นเลือดหัวใจด้วยบอลลูนได้ เนื่องจาก ตำแหน่งไม่เหมาะสม, ผนังเส้นเลือดแข็ง มากจนไม่สามารถขยายได้ด้วยบอลลูน 3. การตีบหรือตันของเส้นเลือดหลายเส้น หลายตำแหน่งร่วมกัน 4. ทำบอลลูนแล้วไม่สำเร็จ หรือ เคยทำสำเร็จแล้วแต่มีการตีบตันซ้ำ 5. สมรรถภาพการทำงานบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายแย่ผิดปกติ ( Left ventricular dysfunction ) 6. มีโรคหัวใจชนิดอื่นที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดร่วมด้วย เช่น โรคลิ้นหัวใจตีบ, โรคลิ้นหัวใจรั่ว

การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจมีกี่วิธี


ปัจจุบันเทคนิคในการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ มีหลายวิธี ได้แก่


การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม ( On pump CABG ) และ “หยุด” การทำงานของหัวใจทั้งหมด (หัวใจหยุดเต้น) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันยัง เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและใช้มากที่สุด ได้ผลดีและมีความปลอดภัยสูง


การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม ( Off pump CABG หรือ OPCAB )โดย “ไม่หยุด” การทำงานของหัวใจ (หัวใจ “ไม่” หยุดเต้น)


วิธีอื่นๆ เช่น การผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม โดย “ไม่หยุด” การทำงานของหัวใจ ( On pump beating heart ), การผ่าตัดแผลเล็ก การผ่าตัดส่องกล้อง ( Minimally invasive ) และ การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ( Robotic )


จากหลักฐานข้อมูลการวิจัยทางการแพทย์ในขณะนี้ พบว่าทุกวิธีดังกล่าวได้ผลดีในระดับใกล้เคียงกันทั้งสิ้น แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ได้ผลการรักษาดีที่สุดและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด

การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง


ก่อนเริ่มกระบวนการผ่าตัด ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการวางยาดมสลบและใส่ท่อช่วยหายใจ ร่วมกับการใส่สายสวนต่างๆเข้าสู่ร่างกายเพื่อใช้ตรวจติดตามสัญญาณชีพของผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด ทำความสะอาดร่างกายตั้งแต่บริเวณคอจนถึงปลายเท้าทั้ง 2 ข้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันและลดโอกาสการติดเชื้อจากการผ่าตัด การผ่าตัดจะเริ่มจากแพทย์ผู้ผ่าตัดเริ่มหาเส้นเลือดจากส่วนต่างๆของร่างกาย และเตรียมเส้นเลือดเหล่านั้นให้พร้อมสำหรับการนำมาใช้ทำผ่าตัดบายพาส


เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการทำบายพาส แผลผ่าตัดจะยาวเป็นเส้นตรงบริเวณกึ่งกลางหน้าอก เริ่มจากจุดกึ่งกลางของหัวกระดูกไหปลาร้าทั้ง 2 ข้าง ไปจนถึงบริเวณลิ้นปี่ จากนั้นแพทย์จะนำเส้นเลือดที่ได้เตรียมไว้มาต่อปลายข้างหนึ่งเข้ากับเส้นเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา ( Aorta ) ที่ออกมาจากขั้วหัวใจ และต่อปลายอีกข้างหนึ่งเข้ากับเส้นเลือดหัวใจเดิมของผู้ป่วยตรงส่วนที่เลยจากตำแหน่งที่มีการตีบหรือตัน ทำให้เลือดสามารถไหลผ่านเส้นเลือดที่ต่อใหม่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น

ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจกลับมาทำงานได้เป็นปกติและอาการเจ็บแน่นหน้าอกหายไป

เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ในหอพักผู้ป่วยวิกฤตหัวใจ ( ICU หัวใจ ) จนปลอดภัยดีแล้วจึงย้ายกลับสู่หอพักผู้ป่วยปกติ

การผ่าตัดบายพาสมีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง


การติดเชื้อของแผลผ่าตัด พบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานภาวะเลือดออกมากผิดปกติ เกิดจากผลของการทานยาต้านเกร็ดเลือด และยาละลายลิ่มเลือดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไตวาย มักจะเกิดเพียงชั่วคราว มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องล้างไตถาวร อัมพาต ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันมักจะมีโรคเส้นเลือดสมองซ่อนเร้นอยู่ด้วยหัวใจเต้นผิดปกติ มักเป็นชั่วคราว และสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาหรือใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน พบได้ในผู้ป่วยที่โรคมีความรุนแรงสูง เสียชีวิต

ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังเข้ารับการผ่าตัด


โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤตหัวใจ เพียง 1-2 วัน เมื่อแข็งแรงดี สามารถหายใจเองได้เต็มที่และถอดท่อและเครื่องช่วยหายใจออกได้ ก็จะกลับไปพักฟื้นและทำกายภาพบำบัดต่อในหอพักผู้ป่วยทั่วไป อีก 3-5 วัน โดยรวมแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะสามารถออกจากโรงพยาบาล กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถดูแลตัวเอง ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้ด้วยตนเอง จนกระทั่ง 3-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนมากมักจะเริ่มกลับไปทำงาน ออกกำลังกายเบาๆ และเดินทางไกลได้ศูนย์โรคหัวใจครบวงจร โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญสูงสุดด้านการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ สามารถทำการผ่าตัดบายพาส เส้นเลือดหัวใจได้ทุกเทคนิค จึงรองรับผู้ป่วยได้ทุกประเภท โดยมีผู้มารับบริการผ่าตัดบายพาส เส้นเลือดหัวใจมากถึง 250-300 รายต่อปี โดยมีอัตราความสำเร็จของการผ่าตัดสูงกว่า 98% และมีอัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดน้อยกว่า 2%


17,660 views0 comments

Recent Posts

See All

หัวใจวาย หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

โดย นพ.ยุทธชัย มาตระกูล หัวใจวาย หรือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดจากมีการอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลันและขัดขวางการไหลขอ...

หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)

โดย นพ.ยุทธชัย มาตระกูล หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia) คือ ภาวะที่มีการก่อกำเนิดสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ หรือมีการนำสัญญาไฟฟ้าภายในห้อง...

Comentários


bottom of page